การประชุม กก.วล. ครั้งที่ 2/2567
“รองนายก ประเสริฐ” เร่งกำหนดมาตรการและการบริหารจัดการ บูรณาการแก้ไขปัญหาฝุ่น ปี 2568 รวมทั้งผลักดันความร่วมมือทางการเงินระหว่างไทย – เยอรมัน ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อม และพัฒนาต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองประธานกรรมการ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการและเลขานุการ และนายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
โดยประธานได้ให้นโยบายใน 4 ประเด็นหลักๆ คือ (1) การให้ความสำคัญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (2) การเร่งรัดแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม (3) การแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ขยะมูลฝอย ภายหลังการเกิดอุทกภัย และ (4) สนับสนุนการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม
โดยที่ประชุมมีการเห็นชอบเรื่องที่สำคัญ 4 เรื่อง ดังนี้
1. หลักการสัญญารับเงินอุดหนุน (Grant Agreement) ภายใต้โครงการ Thai – German Cooperation on Energy, Mobility, and Climate (TGC EMC) จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน 234 ล้านบาท โดยเป็นเงินอุดหนุนเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม 150 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ให้กับภาคธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และการปรับตัวและลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2570
2. โครงการพัฒนาต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำ เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่
ด้วยภาคประชาชน เป็นต้นแบบขยายผลและสร้างการรับรู้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ มุ่งเป้าการมีส่วนรวมเครือข่ายภาคประชาชนลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
3. มาตรการควบคุมและกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่รับดำเนินการของเสียอันตรายและโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคประชาสังคม จากข่าวการรั่วไหลของสารแคดเมียม เมื่อช่วงเมษายน 2567
4. มาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ประกอบด้วย มาตรการจัดการไฟในพื้นที่เกษตร การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง การจัดการหมอกควันข้ามแดน รวมถึงกลไกในการบริหารจัดการในการตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค และศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ระดับจังหวัด
นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 5 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อรองรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว 2) โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 อำเภอสอง จังหวัดแพร่ 3) โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน – พระราม 9) 4) โครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนและชนิดหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด และ 5) โครงการทางหลวงหมายเลข 118 ตอน บ.แม่เจดีย์ – อ.แม่สรวย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานระหว่างประเทศ และบรรเทาปัญหาการจราจรให้กับประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และเชียงราย