มาตรการการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำ

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำที่ควรจะต้องสงวนรักษาไว้เป็นต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ ซึ่งมีองค์ประกอบรวมกันดังนี้

  1. เป็นพื้นที่สูงหรือบริเวณที่อยู่ตอนบนของลุ่มน้ำ ที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้เป็นต้นน้ำลำธารเนื่องจากมีลักษณะและสมบัติที่อาจมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินได้ง่ายและรุนแรง
  2. ส่วนมากเป็นเทือกเขาที่เต็มไปด้วยหุบเขา หน้าผา ยอดเขาแหลม และ/หรือร่องน้ำจำนวนมาก ซึ่งปกคลุมหรือเคยปกคลุมด้วยป่าดงดิบ ป่าดิบเขา หรือป่าสนเขา และ/หรือป่าชนิดอื่นๆ
  3. ส่วนใหญ่มีความลาดชันโดยเฉลี่ยของพื้นที่ตั้งแต่ 60% ขึ้นไป
  4. มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่ประกอบด้วยหินซึ่งให้กำเนิดดินที่ง่ายต่อการพังทลาย

มาตรการการใช้ที่ดินในลุ่มน้ำชั้นที่ 1 นั้น จำแนกออกเป็น 2 ชั้นคือ 1 เอ และ 1 บี ดังนี้

มาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ

  1. ห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ป่าไม้เป็นรูปแบบอื่นอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารอย่างแท้จริง
  2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบำรุงรักษาป่าธรรมชาติที่มีอยู่ และระงับการอนุญาตทำไม้โดยเด็ดขาด และให้ดำเนินการป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอย่างเข้มงวดกวดขัน
    การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินใดๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ ภายหลังปี พ.ศ. 2525 กำหนดให้ใช้มาตรการดังนี้
  3. บริเวณพื้นที่ใดที่ได้กำหนดเป็นลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ไว้แล้ว หากภายหลังการสำรวจพบว่าเป็นที่รกร้างว่างเปล่าหรือป่าเสื่อมโทรม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปลูกป่าทดแทนต่อไป
  4. บริเวณใดที่มีราษฎรอาศัยอยู่ดั้งเดิมอย่างเป็นการถาวรแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดที่ทำกินให้เป็นการถาวร เพื่อมิให้มีการโยกย้ายและทำลายป่าให้ขยายขอบเขตออกไปอีก

มาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี

  1. พื้นที่ใดที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพเพื่อประกอบการกสิกรรมรูปแบบต่างๆ ไปแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาดำเนินการกำหนดการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
  2. บริเวณใดที่ได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบต่างๆ ไปแล้ว หากจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใด จะต้องดำเนินการวางแผนการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติในลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการรักษาดุลยภาพของลักษณะทางนิเวศวิทยาและการอนุรักษ์ธรรมชาติ
  3. บริเวณพื้นที่ใดที่ไม่เหมาะสมต่อการเกษตรหรือการพัฒนาในรูปแบบอื่นๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปลูกป่าฟื้นฟูสภาพต้นน้ำลำธารอย่างรีบด่วน
  4. ในกรณีที่ต้องมีการก่อสร้างถนนผ่านเข้าไปในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นนี้ หรือการทำเหมืองแร่ หน่วยงานที่รับผิดชอบในโครงการจะต้องดำเนินการควบคุมการชะล้างพังทลายของดินที่เกิดขึ้นในบริเวณโครงการเนื่องจากการปฏิบัติงานในระหว่างดำเนินการและภายหลังเสร็จสิ้นโครงการ มิให้ลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้เกิดอันตรายแก่สัตว์น้ำและไม่สามารถนำมาอุปโภคบริโภคได้
  5. ในกรณีที่ส่วนราชการใดมีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในโครงการที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติแล้ว ให้ส่วนราชการเจ้าของโครงการดังกล่าวนำโครงการนั้นเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการเป็นต้นน้ำลำธารในระดับรองลงมา และสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อกิจการที่สำคัญ เช่น การทำไม้ และเหมืองแร่ เป็นต้น ซึ่งมีองค์ประกอบร่วมกันดังนี้คือ

  1. เป็นพื้นที่ภูเขาบนพื้นที่สูงที่มีลักษณะสันเขามนและความกว้างไม่มากนัก หรือเป็นบริเวณลาดเขาที่มีแนวความลาดเทยาวปานกลาง มีร่องน้ำค่อนข้างกว้าง มีป่าดงดิบที่ถูกแผ้วถางหรือป่าปกคลุมมีสภาพเสื่อมโทรม แต่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ และ/หรือป่าเต็งรัง
  2. มีความลาดชันของพื้นที่โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 35 – 50%
  3. มีลักษณะทางธรณีที่ประกอบด้วยหิน ซึ่งให้กำเนิดดินที่ง่ายต่อการชะล้างพังทลาย
  4. มีดินตื้นถึงลึกปานกลาง ความอุดมสมบูรณ์ต่ำถึงปานกลางและมีสมรรถนะการพังทลายสูง

มาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2

  1. การใช้พื้นที่ทำกิจการป่าไม้และเหมืองแร่ ควรอนุญาตให้ได้ แต่จะต้องมีการควบคุมวิธีการปฏิบัติในการใช้ที่ดินเพื่อการนั้นๆ อย่างเข้มงวดกวดขันและเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่ต้นน้ำลำธารและพื้นที่ตอนล่างอย่างเด็ดขาด
  2. การใช้ที่ดินเพื่อกิจการทางด้านเกษตรกรรม ควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด
  3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปลูกป่าในบริเวณที่ถูกทำลายโดยรีบด่วน

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งกิจการทำไม้ เหมืองแร่ และเพื่อปลูกพืชกสิกรรมประเภทไม้ยืนต้น โดยมีองค์ประกอบร่วมกันดังนี้

  1. ส่วนมากมีลักษณะเป็นที่ดินที่ประกอบด้วยที่ราบขั้นบันไดมีเนินสลับหรือบริเวณที่ลาดเทตีนเขา หรือบริเวณของร่องน้ำที่ปรับสภาพแล้ว ป่าส่วนใหญ่ที่ขึ้นปกคลุมหรือเคยขึ้นปกคลุมเป็นป่าเบญจพรรณ หรือป่าเต็งรัง หรือป่าดงดิบ
  2. ส่วนใหญ่มีความลาดชันของพื้นที่โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 – 35%
  3. มีลักษณะทางธรณีที่ประกอบด้วยหิน หรือตะกอนที่ทับถมจากแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งให้กำเนิดดินที่ค่อนข้างยากต่อการถูกชะล้างพังทลาย
  4. มีดินลึกปานกลาง ถึงลึก ความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงสูง แต่มีสมรรถนะการพังทลายปานกลาง

มาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3

  1. การใช้พื้นที่ทำกิจการป่าไม้ เหมืองแร่ กสิกรรม หรือกิจการอื่นๆ อนุญาตให้ได้ แต่ต้องมีการควบคุมวิธีการปฏบัติอย่างเข้มงวดให้เป็นไปตามหลักการอนุรักษ์ดินและน้ำ
  2. การใช้ที่ดินเพื่อการกสิกรรมในลุ่มน้ำชั้นนี้ควรต้องปฏิบัติดังนี้
    1. บริเวณที่มีดินลึกมากกว่า 50 ซ.ม. ให้ใช้เป็นบริเวณที่ปลูกไม้ผล ไ้เศรษฐกิจ และพืชเศรษฐกิจยืนต้นอื่นๆ ได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องใช้มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ถูกต้อง
    2. บริเวณที่มีดินลึกน้อยกว่า 50 ซ.ม. ที่ไม่เหมาะสมกับกิจการทางการกสิกรรม สมควรใช้เป็นพื้นที่ป่าไม้หรือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 4

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 4 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำที่สภาพป่าได้ถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นที่ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการพืชไร่เป็นส่วนมาก โดยทั่วไปมีองค์ประกอบร่วมกันดังนี้

  1. เป็นเนินเขาหรือที่ราบขั้นบันได หรือช่วงต่อระหว่างที่ราบลุ่มกับเชิงเขา หรือพื้นที่สองฝั่งลำน้ำที่ยังอยู่บนที่ดิน ซึ่งป่าที่ปกคลุมหรือที่เคยปกคลุมอยู่เป็นป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง และ/หรือป่าละเมาะ
  2. มีความลาดชันของพื้นที่โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 6 – 25%
  3. มีลักษณะทางธรณีที่ประกอบด้วยหินหรือตะกอน ซึ่งให้กำเนิดดินที่ยากต่อการถูกชะล้างพังทลาย
  4. ดินลึกถึงค่อนข้างลึก ความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง และมีสมรรถนะการพังทลายต่ำ

มาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 4

  1. การใช้พื้นที่ทำเหมืองแร่ ป่าไม้ และกิจการอื่นๆ ให้อนุญาตได้ตามปกติโดยให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการโดยเคร่งครัด
  2. การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในลุ่มน้ำชั้นนี้ควรต้องปฏิบัติดังนี้
    1. บริเวณที่มีความลาดชัน 18 – 25% และดินลึกน้อยกว่า 50 ซ.ม. สมควรใช้เป็นพื้นที่ป่าไม้และไม้ผล โดยมีการวางแผนการใช้ที่ดินตามมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ
    2. บริเวณที่มีความลาดชันระหว่าง 6 – 18% ควรจะใช้เพาะปลูกพืชไร่ นา โดยมีมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 5

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 5 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งเป็นที่ราบหรือที่ลุ่ม หรือเนินลาดเอียงเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่ป่าได้ถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาและกิจการอื่นๆ โดยทั่วไปมีองค์ประกอบร่วมกันดังนี

  1. เป็นที่ราบ ที่ลุ่ม หรือเนินลาดเอียงเล็กน้อยสองฝั่งลำน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่กลายสภาพเป็นทุ่งนา แต่บางพื้นที่อาจยังเป็นป่าละเมาะ ป่าแสม ป่าผลัดใบ ป่าดงดิบ หรือป่าเต็งรัง
  2. ส่วนใหญ่มีความลาดชันของพื้นที่โดยเฉลี่ยต่ำกว่า 6%
  3. ลักษณะทางธรณีเป็นพวกดินตะกอน
  4. ดินลึกถึงลึกมาก ความอุดมสมบูรณ์สูง และมีความคงทนต่อการถูกชะล้างพังทลาย

มาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 5

  1. การใช้พื้นที่ทำกิจการเหมืองแร่ การเกษตร ป่าไม้ และกิจการอื่นๆ ให้อนุญาตได้ตามปกติ
  2. การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในลุ่มน้ำชั้นนี้จะต้องปฏิบัติดังนี้
    1. บริเวณที่มีดินลึกน้อยกว่า 50 ซ.ม. ควรใช้เป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่ ป่าเอกชน ไม้ผล และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
    2. บริเวณที่มีดินลึกมากกว่า 50 ซ.ม. ควรใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวและพืชไร่ และต้องระมัดระวังดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ
  3. ในกรณีที่จะใช้ที่ดินในชั้นคุณภาพนี้เพื่อการอุตสาหกรรม ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการเกษตรสูง