หลักเกณฑ์
หลักเกณฑ์ในการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ประกอบด้วยปัจจัยทางกายภาพซึ่งมีผลต่อกระบวนการทางอุทกวิทยาและมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก รวม 6 ปัจจัย คือ
- สภาพภูมิประเทศ
- ระดับความลาดชัน
- ความสูงจากระดับน้ำทะเล
- ลักษณะทางธรณีวิทยา
- ลักษณะปฐพีวิทยา
- สภาพป่าไม้ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน (ซึ่งพิจารณาในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 โดยกำหนดให้พื้นที่ที่มีป่าปกคลุมสมบูรณ์ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายดาวเทียมปี พ.ศ. 2525 เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และพื้นที่ที่ไม่มีป่าปกคลุมเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี) โดยจะผนวกเอาปัจจัยทั้งหกเป็นรูปของสมการทางคณิตศาสตร์ ซึ่งได้มีการทดสอบและยอมรับจากการประชุมผู้แทนของหน่วยงานต่างๆ แล้ว
พื้นที่ทั้งหมดของลุ่มน้ำจะถูกจำแนกออกเป็น 5 ระดับชั้นคุณภาพตามลำดับความสำคัญในการควบคุมระบบนิเวศของลุ่มน้ำ ซึ่งแต่ละชั้นคุณภาพมีคำนิยามและลักษณะดังต่อไปนี้
- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 หมายถึงพื้นที่ภายในลุ่มน้ำที่ควรจะต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ เนื่องจากมีลักษณะและสมบัติที่อาจมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินได้ง่ายและรุนแรง โดยมีค่าดัชนีชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่คำนาณได้จากสมการน้อยกว่า 1:50 ไม่ว่าพื้นที่จะมีป่าหรือไม่มีป่าปกคลุมก็ตาม
ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จะแบ่งออกเป็น 2 ระดับชั้นย่อยคือ- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ หมายถึง พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ที่ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์ปรากฏอยู่ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งจำเป็นต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ
- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี หมายถึง พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งสภาพป่าส่วนใหญ่ในพื้นที่ได้ถูกทำลาย ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงไปเพื่อพัฒนาการใช้ที่ดินรูปแบบอื่นก่อนหน้าปี พ.ศ. 2525 และการใช้ที่ดินหรือการพัฒนารูปแบบต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว จะต้องมีมาตรการควบคุมเป็นพิเศษ
- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งมีค่าดัชนีชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่คำนาณได้จากสมการอยู่ระหว่าง 1.5 ถึงน้อยกว่า 2.21 โดยลักษณะทั่วไปมีคุณภาพเหมาะต่อการเป็นต้นน้ำลำธารในระดับรองลงมา และสามารถใช้ประโยชน์เพื่อกิจการที่สำคัญได้ เช่น การทำเหมืองแร่ เป็นต้น
- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งมีค่าดัชนีชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่คำนาณได้จากสมการอยู่ระหว่าง 2.21 ถึง 3.20 และพื้นที่โดยทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งกิจการทำไม้ เหมืองแร่ และปลูกพืชกสิกรรมประเภทไม้ยืนต้น
- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 4 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งมีค่าดัชนีชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่คำนาณได้จากสมการอยู่ระหว่าง 3.20 ถึง 3.99 และสภาพป่าได้ถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นที่ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการพืชไร่เป็นส่วนมาก
- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 5 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งมีค่าดัชนีชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่คำนาณได้จากสมการมากกว่า 3.99 ขึ้นไป ลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่ราบหรือที่ลุ่ม หรือเนินลาดเอียงเล็กน้อย และส่วนใหญ่ป่าไม้ได้ถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อประโยชน์ด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาและกิจการอื่นๆ ไปแล้ว
การจำแนกหรือกำหนดลักษณะของชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ และมาตรการปฏิบัติ
ผลการศึกษาได้จำแนกชั้นคุณภาพลุ่มน้ำทั้ง 5 ระดับชั้นลงบนแผนที่ภูมิประเทศ ขนาดมาตราส่วน 1:50,000 โดยในลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดจำแนกออกเป็น เขตลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ หมายถึง ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์ จะไม่ให้มีการใช้พื้นที่ในทุกกรณี ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารอย่างแท้จริง เนื่องจากพื้นที่ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์ ต้องสงวนไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ และเขตลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี หมายถึงลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ที่สภาพป่าส่วนใหญ่ได้ถูกทำลาย ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาการใช้ที่ดินในรูปแบบอื่นไปแล้วก่อนปี 2525 การใช้ที่ดินหรือการพัฒนาที่ดินจะต้องมีมาตรการควบคุมเป็นพิเศษ อนึ่ง สำหรับลุ่มน้ำภาคกลาง ภาคตะวันตก ป่าสัก และลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนอื่นๆ (ลุ่มน้ำชายแดน) ได้มีการจำแนกชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ เป็น 1 เอเอ็ม (1AM) หรือลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ที่มีศักยภาพด้านแร่ และลุ่มน้ำชั้น 1 บี เป็น 1 บีเอ็ม (1BM) หรือลุ่มน้ำชั้น 1 บี ที่มีศักยภาพด้านแร่ เนื่องจากมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2534 (เกี่ยวกับพื้นที่ศักยภาพแร่) ออกมาบังคับใช้