การใช้ประโยชน์ที่ดิน

ความสัมพันธ์กับป่าในเขตอนุรักษ์

การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำมีความสัมพันธ์กับการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (โซนนิ่งป่าไม้) อย่างไร?

ในการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 และ 17 มีนาคม 2535 ได้นำผลจากการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำไปใช้เป็นกรอบในการจำแนกพื้นที่ โดยพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ถูกกำหนดเป็นเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) และพื้นที่ส่วนใหญ่ของลุ่มน้ำชั้นที่ 1 (ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และ 1 บี) จะซ้อนทับกับเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บางส่วนซ้อนทับกับป่าเพื่อการอนุรักษ์เพิ่มเติม

สำหรับมาตรการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) กำหนดให้ “การขอใช้ประโยชน์เพื่อกิจการใดๆ ให้ดำเนินการตามกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบที่เกี่ยวข้อง”

ส่วนมาตรการสำหรับพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์เพิ่มเติม ที่สำคัญได้แก่

  1. ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในโครงการที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ดำเนินการดังนี้
    1. ให้ส่วนราชการเจ้าของโครงการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อประกอบการพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นรายๆ ไป
    2. ในการใช้เส้นทางให้พิจารณาเฉพาะเส้นทางที่มีอยู่เดิมตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หากเป็นการขยายเส้นทางหรือสร้างทางใหม่ ให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อประกอบการพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นรายๆ ไป
  2. ในกรณีการสำรวจแหล่งแร่ การทำเหมืองแร่และอุตสาหกรรมระเบิดย่อยหิน ให้ดำเนินการตามนัยกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบที่เกี่ยวข้อง
  3. ในกรณีที่มีการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์นอกจากข้อ 1 และข้อ 2 ไปแล้ว เมื่อหมดอายุการอนุญาต ให้งดการต่ออายุใบอนุญาตโดยเด็ดขาด

ผลกระทบการใช้ประโยชน์ที่ดิน

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ในอดีตประเทศไทยมิได้มีการกำหนดกรอบหรือหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่ลุ่มน้ำ ดังนั้น เมื่อนำผลจากการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำไปใช้เป็นกรอบหรือนโยบายในการจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งกำหนดมาตรการการใช้ที่ดินโดยห้ามมิให้มีการดำเนินกิจกรรมใดๆ โดยเด็ดขาด ย่อมมีผลกระทบต่อโครงการ/กิจกรรมการพัฒนาต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน รวมถึง การตั้งถิ่นฐานของประชาชนบนพื้นที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ซึ่งอาศัยอยู่ตามเทือกเขาในเขตลุ่มน้ำชั้นที่ 1  ดังนั้น จึงต้องมีการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

โครงการของรัฐซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ มีหลากหลายประเภทได้แก่ เส้นทางคมนาคมต่างๆ ทั้งถนนและทางรถไฟ เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ สถานที่ราชการ โครงการพิเศษต่างๆ เป็นต้น โครงการต่างๆ ดังกล่าวที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ คณะรัฐมนตรีอาจจะพิจารณาผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เป็นการเฉพาะกรณีได้ โดยกำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อใช้เป็นกลไกในการจัดการป้องกัน แก้ไข หรือฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ทั้งในช่วงการก่อสร้างโครงการและหลังจากที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ

โครงการของเอกชนที่เกี่ยวข้องได้แก่ การทำเหมืองแร่ การระเบิดและย่อยหิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพแร่สูง หากอยู่ในเขตลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ก็จะไม่สามารถดำเนินการขอต่ออายุประทานบัตรหรือสัมปทานได้ แต่สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี หากจะทำเหมืองแร่ก็สามารถขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายๆ ไป และหากมีการระเบิดและย่อยหินอยู่แล้ว และประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ก็สามารถดำเนินการได้อีก 1 ครั้ง (ระยะเวลา 5 ปี) เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาผลดีและผลเสียของการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำในภาพรวม แล้ว จะมีผลดีมากกว่าผลเสีย เนื่องจากประเทศไทยจะสามารถรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญเอาไว้ได้ บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ทางวิชาการ ซึ่งหากพิจารณาถึงสถานะของการเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญแล้ว ประเทศไทยมีพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 รวมทั้งประเทศอยู่เพียงประมาณร้อยละ 18 เท่านั้น

นับแต่มีมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ก็ได้มีส่วนราชการหลายหน่วยงานรวมทั้งภาคเอกชน เสนอขอผ่อนผันยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเพื่อเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อดำเนินโครงการ/กิจกรรมต่างๆ ต่อมา คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 กำหนดให้ “..กรณีจำเป็นที่ต้องขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ต่อคณะรัฐมนตรี ส่วนราชการจะต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาก่อน เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง”

ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน

มีปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินงานการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำหรือไม่ หากมีจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร

ปัญหาอุปสรรคของการดำเนินนโยบายการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ได้แก่ ปัญหาการตั้งถิ่นฐานและทำเกษตรกรรมของราษฎรในพื้นที่สงวนหวงห้ามและไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ปัญหาการดำเนินโครงการของภาครัฐบางประเภท ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ได้ อีกทั้งหน่วยงานปฏิบัติอาจจะยังมิได้กำหนดกรอบหรือแนวทางปฏิบัติของตนให้สอดคล้องกับมาตรการการใช้ที่ดินในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำ
สำหรับวิธีการแก้ไขจะต้องอาศัยปัจจัยหลายปัจจัย เช่น การกำหนดรูปแบบการบริหารให้เกิดการประสานการดำเนินงานต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบและจริงจัง โดยอาจกำหนดให้มีกฎหมายและองค์กรเกี่ยวกับการรักษาพื้นที่ลุ่มน้ำหรือป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญเป็นการเฉพาะ เป็นต้น