ความเป็นมา

ความเป็นมา

การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ (Watershed classification, WSC) เป็นการจำแนกชั้นความสำคัญของพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำเพื่อกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินของแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันมีปัญหาความขัดแย้งด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่ลุ่มน้ำอยู่เป็นประจำ ตัวอย่างเช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารกับการทำเหมืองแร่ ซึ่งหลายพื้นที่หลายแห่งภายในลุ่มน้ำมักจะมีศักยภาพของแร่สูง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของราษฎรก็คือ ปัญหาการใช้ที่ดินในลักษณะอื่น ทั้งที่เกิดจากส่วนราชการและเอกชน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีความขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น เพื่อให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและเกิดข้อขัดแย้งน้อยที่สุดจึงจำเป็นต้องมีการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนลงไปว่าพื้นที่ใดเหมาะสมกับกิจกรรมใดมากที่สุด และพื้นที่ใดสามารถทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง ซึ่งจะช่วยให้การบริหารทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่ลุ่มน้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายมากที่สุด

เดิมกรมป่าไม้ได้เสนอให้มีการกำหนดชั้นและอาณาเขตของป่าต้นน้ำลำธารบริเวณลุ่มน้ำปิงและลุ่มน้ำวังต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามเสนอ ต่อมากรมทรัพยากรธรณีได้ขอให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เนื่องจากในข้อเสนอของกรมป่าไม้ที่ว่าในเขตป่าต้นน้ำลำธารชั้นที่ 1 ห้ามมีการใช้ประโยชน์อย่างเด็ดขาด แต่พื้นที่ในเขตดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพของแร่สูง คณะรัฐมนตรีจึงสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ปัจจุบัน คือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.) เพื่อพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว คณะกรรมชุดนี้ได้พิจารณาและเห็นควรให้มีการปรับปรุงการกำหนดชั้นและอาณาเขตป่าต้นน้ำลำธารใหม่เพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกันพิจารณาปรับปรุง แต่ก็ยังหาข้อยุติของความขัดแย้งไม่ได้

เพื่อหาทางยุติข้อขัดแย้งดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวข้างต้นมาพิจารณา และได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำขึ้น (ศ.ดร. เกษม จันทร์แก้ว เป็นประธานคณะกรรมการ) พร้อมกับเสนอขออนุมัติโครงการศึกษาเพื่อกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศไทยต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2525 สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงได้สรรหาหน่วยงานที่เป็นกลางเพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิจัยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ศึกษาวิจัยแบ่งชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่สำคัญๆ และกำหนดมาตรการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละชั้นคุณภาพลุ่มน้ำให้สอดคล้องกับหลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาวะแวดล้อม ซึ่งสำนักงานฯ ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการศึกษาวิจัยโครงการดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำเป็นที่ปรึกษาและกำหนดให้ดำเนินการในลุ่มน้ำสำคัญๆ ของประเทศ คือ ลุ่มน้ำภาคเหนือ (ปิง วัง ยม น่าน) ระหว่าง พ.ศ. 2526-2528 ลุ่มน้ำมูล-ชี ระหว่าง พ.ศ. 2529-2531 ลุ่มน้ำภาคใต้ ระหว่าง พ.ศ. 2530-2531 ลุ่มน้ำภาคตะวันออก พ.ศ. 2532 ลุ่มน้ำภาคตะวันตก ภาคกลาง และลุ่มน้ำป่าสัก พ.ศ. 2533 และ ลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนอื่นๆ (นอกจาก ปิง-วัง-ยม-น่าน และมูล-ชี คือ ลุ่มน้ำชายแดนทั้งหมด) พ.ศ. 2534